โรงเรียนสาธิตแห่งม.ธรรมศาสตร์ไม่มีเคารพธงชาติ ไม่มีชุดนักเรียน ไม่ต้องตัดผม จะเวิร์กจริงเหรอ

หรือนี่คือโรงเรียนในฝันของทุกคน
5 years 8 months ago
By BK Staff | Jul 24, 2018

โรงเรียนในฝันของคุณหน้าตาเป็นแบบไหน? คุณครูสอนเข้าใจ ไม่ต้องตัดผม ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน เด็กๆ ไม่โดนเอาเปรียบ ทั้งหมดนี้คือส่วนผสมของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมักตกเป็นประเด็นสังคมแทบทุกครั้งที่มีการพูดถึงนโยบายที่แสนจะแปลกใหม่ของพวกเขา (เมื่อเทียบจากมาตรฐานโรงเรียนไทยทั่วไป)  โดยทาง BK ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อ.ศิริรัตน์ ศิริชีพชัยยันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ดร.สิทธิโชค ทับทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและกระบวนการเรียนรู้ และอ.นิธิ จันทรธนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายและกิจกรรมพิเศษ ถึงมุมมองการศึกษาของพวกเขา 

 

จุดเริ่มต้นของนโยบาย “ไม่มี” ยูนิฟอร์มของโรงเรียน

อ.ศิริรัตน์ : ก็ไม่อยากให้มองว่าทางโรงเรียนปล่อยให้เด็กใส่ชุด “อะไรก็ได้” มาเรียน เพราะหลักๆ แล้วเราอยากให้เด็กเรียนรู้ที่จะเลือกชุดที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่า ที่โรงเรียนสาธิตฯ ก็มียูนิฟอร์มเป็นเสื้อโปโล เด็กๆ ที่นี่ก็จะใส่กันในวันจันทร์และพฤหัส เพราะเป็นวันที่พื้นที่แถวนั้นเขามีตลาดนัด เราจะได้แยกออกว่าใครเป็นเด็กโรงเรียนเราบ้าง แต่ทางโรงเรียนเองก็ให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อยูนิฟอร์ม ไปพร้อมๆ กับอาจารย์และผู้ปกครองเหมือนกัน  

อ.สิทธิโชค : การเปิดโอกาสให้เด็กๆ เลือกใส่ชุดมาโรงเรียนเองได้เนี่ย คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ เลือกเดินไปตามทางของตัวเองได้จริงๆ เราเชื่อว่าตรงนี้คือส่วนหนึ่งของการโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมด้วย

 

หลักสูตรของโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

อ.นิธิ: ที่นี่เข้าเรียนตอนแปดโมงเช้า แต่ไม่มีเข้าแถวร้องเพลงชาติ หรือสวดมนตร์แบบโรงเรียนอื่นๆ เราเชื่อว่าคนเราไม่จำเป็นต้องออกมาร้องเพลงชาติทุกเช้าเพื่อบอกว่าเรารักชาติ  มีคาบเรียนถึงสองโมงครึ่ง เสร็จแล้วก็จะแยกย้ายไปตามชมรมต่างๆ วันจันทร์เราจะมีช่วงนวัตกรสังคม (Social Innovator) ที่เด็กนักเรียนจะได้ถกประเด็นสังคมปัจจุบันกัน

 

ในคาบ “นวัตกรสังคม” ได้ถกประเด็นอะไรกันบ้าง

อ.นิธิ: เราไม่ได้โยนประเด็นปัญหาใหญ่ๆ อย่างโรฮิงญาเข้าไปในวงตู้มเดียวหรอก (หัวเราะ) ในคาบเราจะปล่อยให้เด็กๆ ช่วยกันลิสต์ปัญหาที่พวกเขาพบเจอในชีวิตประจำวัน จากนั้นเราก็จะมาช่วยกันระดมความคิด หาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ก่อนให้พวกเขาคิดว่าจะทำยังไงให้วิธีการนั้นนำมาใช้จริงได้ พอเวลาเด็กๆ ได้ตัดสินใจอะไรเอง เป็นตัวของตัวเองจริงๆ เราว่าพวกเขาจะเข้าใจวิธีที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่างของคนอื่นได้

อ.ศิริรัตน์: เราอยากให้พวกเขามีความคิดที่ก้าวหน้าและพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ซึ่งนั่นก็คือจุดมุ่งหมายหลักสำหรับนักการศึกษาอยู่แล้ว

 

ถ้าอยากส่งลูกมาเข้าโรงเรียนต้องทำยังไง

อ.สิทธิโชค: แรกเริ่มเลยคือเข้ามากรอกรายละเอียดที่เว็บไซต์โรงเรียน จากนั้นเราจะเรียกตัวทั้งเด็กและผู้ปกครองมาทำข้อสอบคนละชุด เด็กจะได้ข้อสอบวัด "กระบวนการคิด" ส่วนพ่อๆ แม่ๆ ก็จะได้รับข้อสอบวัดทัศนคติและวิธีส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของลูก เหตุผลที่ให้สอบเพราะทางโรงเรียนอยากแน่ใจว่าผู้ปกครองจะมีเวลาให้เด็กจริงๆ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องมาเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนด้วย ตอนนี้โรงเรียนเรารับเด็กช่วงชั้นมัธยม 1 อยู่และก็จะไม่มีการรับนักเรียนแทรกชั้น  

 

สนใจที่จะนำเอาหลักสูตรโรงเรียนไปใช้ที่อื่นไหม

อ.ศิริรัตน์: เราได้รับเรื่องจากหลายโรงเรียนที่อยากให้เราส่งครูไปทำเวิร์กช็อบให้ แต่เราคงมีทุนไม่พอที่จะตั้งโรงเรียนแบบเดียวกันขึ้นอีก ในเบื้องต้น คงต้องส่งผู้เชี่ยวชาญของโรงเรียนไปอบรมโรงเรียนอื่นไปก่อน

 

พอโรงเรียนเปิดให้มีการถกเถียงอย่างเสรี มีเคสไหนไหมที่เด็กๆ ทะเลาะเบาะแว้งกัน?

อ.นิธิ: มีสิ (หัวเราะ) เราเคยมีพิธีไหว้ครูในปฎิทินโรงเรียนนะ แต่ครูอย่างเราๆ ก็ไม่ได้คิดว่ามันสำคัญอะไร เลยบอกพวกเขาไปว่าถ้าอยากมี ก็จัดการกันเองได้ เด็กๆ เลยตัดสินใจว่าจะจัด วันนั้นพวกเขาเข้าไปในห้องประชุมใหญ่แล้วก็ล็อกประตูไม่ยอมให้ครูเข้าไปดู เราก็ปล่อยให้เขาถกเถียงกันจนเสร็จ สุดท้ายพวกเขาก็จัดวันไหว้ครูออกมาได้ดีทีเดียว

 

LEAVE A COMMENT